LINE ประกาศยุติการให้บริการ "KEEP" 28 ส.ค.2567

Fri, 3 May 2024 13:10:00

วันนี้ (3 พ.ค.2567) แอปพลิเคชัน LINE ประกาศให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดข้อมูลไม่ว่าจะเป็นทั้งรูปภาพ ไฟล์ คลิปวิดีโอ ลิงก์ต่างๆ ที่เก็บไว้ในฟีเจอร์ KEEP ไปสู่แอปพลิเคชันอื่นที่ต้องการก่อนวันที่ 28 ส.ค.2567 หรืออีกประมาณ 4 เดือนข้างหน้า เนื่องจาก LINE จะลบฟีเจอร์ KEEP ออกจากระบบ ซึ่งจะส่งผลให้ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ใน KEEP นั้นสูญหายไปทั้งหมด

LINE KEEP คืออะไร

KEEP เป็นฟีเจอร์หรือตัวช่วยใน LINE ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ในแอปฯ ได้โดยที่ "ไม่หมดอายุ" ซึ่งปัญหาที่คนส่วนใหญ่เจอคือ การส่งข้อมูลหาอีกฝ่าย ทั้งรูปภาพ คลิป ลิงก์ ไฟล์งาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ ข้อมูลเหล่านั้นจะไม่สามารถเรียกดูได้อีก 

ความจุในการเก็บข้อมูลใน KEEP อยู่ที่ 1 GB แต่สำหรับไฟล์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 50 MB จะมีระยะเวลาเก็บได้ 30 วัน โดยที่จำนวนวันที่เหลือจะปรากฏในไฟล์เหล่านี้ทุกวัน เพื่อเตือนผู้ใช้งาน ส่วนวิดีโอที่มีความยาวไม่เกิน 5 นาที และ • ข้อความสูงสุด 10,000 ตัวอักษร ก็สามารถเก็บไว้ใน KEEP ได้เช่นกัน 

ขั้นตอนการย้ายข้อมูลจาก KEEP สู่แอปฯ อื่น

  1. ไปที่ แท็บ หน้าแรก แล้วแตะ KEEP (ไอคอนบุ๊กมาร์ก) 
  2. เลือกเนื้อหาที่คุณต้องการแชร์ จากนั้นแตะไอคอนแชร์ที่ด้านล่างขวาของหน้าจอ
  3. แตะแชร์ในแอปฯ อื่น และ เลือกแอปฯ ที่จะแชร์ด้วย
  4. หากทำในโทรศัพท์มือถือจะสามารถแชร์ไปแอปฯ อื่นได้ แต่ถ้าทำใน PC จะแชร์ต่อได้แค่เพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนที่อยู่ใน LINE 

ความแตกต่างของ KEEP MEMO และ KEEP

KEEP MEMO คือห้องแชตส่วนตัวที่มีเพียงผู้ใช้งานเท่านั้นที่เห็น ข้อความ ลิงก์ รูปภาพ วิดีโอ และไฟล์อื่นๆ แต่ข้อมูลใน KEEP MEMO จะมีระยะเวลาเก็บที่จำกัดเท่ากันกับข้อมูลที่ส่งในห้องแชตทั่วๆ ไป ผู้ใช้ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อแชต KEEP MEMO หรือเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ได้ 

ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลจาก บริษัท LINE คอร์ปอเรชั่น ว่าจะมีการให้บริการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่กำหนดระยะเวลาการเก็บอีกหรือไม่ และหากมี จะเป็นไปในรูปแบบใด มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่มเหมือนการซื้อพื้นที่ Cloud หรือไม่ 

อ่านข่าวอื่น :

ตร.ประสาน "หญิงเมาขับ" รับทราบข้อกล่าวหาคดีค้างเก่า 9 พ.ค.นี้

ชายตกท่อลึก 10 เมตร เสียชีวิต พบฝาท่อเป็นเพียงไม้อัด

ชื่นชม! 3 พนักงานไทย สมายล์ โบ้ทช่วยคนตกน้ำเจ้าพระยา


ครั้งแรกปี 67 ชาวกรุงเตรียมไร้เงา "ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพฯ" 26 เม.ย.นี้

Mon, 22 Apr 2024 13:23:00

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกของปี เวลาประมาณ 12.16 น.

ในเวลาดังกล่าว หากสังเกตวัตถุที่อยู่กลางแดดจะดูเสมือนไร้เงา เนื่องจากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี และอาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

อ่าน : ไขคำตอบ "ดาวตกชนิดลูกไฟ" แสงเขียวเหนือท้องฟ้าไทย

ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย เริ่มจากพื้นที่ภาคใต้ที่ อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา จากนั้นไล่ลำดับขึ้นเหนือมาเรื่อย ๆ ก่อนจะสิ้นสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 22 พ.ค.2567

สำหรับ กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือศีรษะพอดีในวันที่ 26 เม.ย.2567 เวลาประมาณ 12.16 น. ขณะดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกหากสังเกตวัตถุกลางแดดจะดูเสมือนไร้เงา เนื่องจากเงาของวัตถุจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดีไม่มีเงาทอดออกมา

ทั้งนี้ วันดังกล่าวจะเป็นวันที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสม ฯลฯ จึงอาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุดของปี

อ่าน : ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 77 จังหวัด เริ่มเบตง 4 เม.ย. สิ้นสุด แม่สาย 22 พ.ค.

เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ระหว่างแนวละติจูด 5 - 20 องศาเหนือ ส่งผลให้ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่บริเวณต่าง ๆ ของไทย 2 ครั้ง/ปี คือ ช่วง เม.ย. -พ.ค. และ ก.ค. - ก.ย. โดยมีคาบการโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไป แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน

สำหรับดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่กรุงเทพฯ ครั้งต่อไป จะตรงกับวันที่ 16 ส.ค.2567 เวลาประมาณ 12.22 น.

ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากทั้ง 77 จังหวัด ปี 2567

เช็กวัน-เวลา ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ในจังหวัดต่าง ๆ 

ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ่านข่าว :

"วันคุ้มครองโลก" 10 ไอเดียน่าทำปกป้องสิ่งแวดล้อมในสวนหลังบ้าน

อวกาศไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน คือ เศรษฐกิจ "อนาคต -ปากท้อง" ของไทย

ตะลึงพบ "ฉลามผี" สายพันธุ์ใหม่ทะเลอันดามันนอกชายฝั่งไทย


วันนี้ "สุริยุปราคาเต็มดวง" ไขปมโซเชียลจะเกิด "พายุสุริยะ" ส่งผลกระทบโลก จริงหรือไม่

Mon, 8 Apr 2024 12:49:00

ดร.มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า วันนี้ 8 เมษายน 2567 จะเกิดปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาเต็มดวง" และยังไม่มีรายงานถึงพายุสุริยะในวันดังกล่าว

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ มีข้อมูลที่แชร์กันอย่างล้นหลามผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นคลิปเตือนภัยว่า NASA ได้ออกมาประกาศว่า ในวันที่ 8 เมษายน 2567 จะเกิด "พายุสุริยะขนาดใหญ่" ที่จะส่งผลกระทบกับโลก ซึ่งวันดังกล่าวตรงกับวันที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เบื้องต้นยังไม่มีรายงานถึงพายุสุริยะในวันดังกล่าว และ "ปรากฏการณ์สุริยุปราคา" ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ "การเกิดพายุสุริยะ"

นักวิชาการ สดร. อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อมูลในเว็บไซต์ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ของ NASA ที่ใช้สำหรับแจ้งเตือน และเฝ้าระวังภัยจากพายุสุริยะ ยังไม่มีการกล่าวถึง และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดพายุสุริยะ ในวันที่ 8 เมษายนแต่อย่างใด ล่าสุดมีเพียงข้อมูลการเตือนภัยในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค.2567 ที่ผ่านมาเท่านั้น เกี่ยวกับการเกิด "พายุสุริยะ ระดับ G4" ที่มาถึงโลกในวันที่ 24 มี.8.นับว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างหาได้ยาก อาจเรียกได้ว่า เป็นพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ปี 2560

พายุสุริยะ คืออะไร ส่งผลอย่างไร

"พายุสุริยะ" เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยมวล (Coronal Mass Ejections: CME) ซึ่งเป็น "อนุภาคมีประจุ" พุ่งไปในอวกาศ เมื่ออนุภาคมีประจุเหล่านี้มาเยือนยังโลก อาจเกิดการรบกวนต่อการทำงานของดาวเทียม เช่น GPS และนักบินอวกาศที่อยู่นอกสถานีอวกาศอาจจะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ พายุสุริยะที่รุนแรงสามารถเบี่ยงสนามแม่เหล็กของโลก ก่อให้เกิดการรบกวนต่อระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าบนโลกโดยเฉพาะในละติจูดสูง ๆ ได้ และจะเป็นช่วงที่เกิด "ปรากฏการณ์แสงเหนือแสงใต้" หรือ ออโรรา ให้เห็นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งพายุสุริยะในระดับ G4 ที่ผ่านมาในวันที่ 24 มี.ค. นั้น ไม่ได้เกิดอันตราย หรือรบกวนต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ บนพื้นโลกแต่อย่างใด มีเพียงรายงานไฟฟ้าขัดข้องในบางพื้นที่ของประเทศแคนาดา และการพบแสงออโรราที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่แถบขั้วโลกเพียงเท่านั้น 

เนื่องจากสนามแม่เหล็ก และชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของโลกจะสามารถป้องกันอนุภาค และรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เอาไว้ได้

นักวิชาการ สดร. ระบุว่า ปกติแล้วดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยพลังงานซึ่งเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ และจะปลดปล่อยพลังงานมากขึ้น ในช่วง Solar Maximum ของวัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) ที่กำลังจะมาถึงในปี 2567 นี้

วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) 

วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) เป็นเพียงช่วงความถี่ที่จะพบกับจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) รวมถึงพายุสุริยะในระดับต่าง ๆ เท่านั้นเอง และไม่ส่งผลต่อการปลดปล่อยพลังงาน หรือปริมาณแสงอาทิตย์แต่อย่างใด และปกติแล้วในช่วงที่ดวงอาทิตย์ใกล้เข้าสู่ "Solar Maximum" จะมีการแจ้งเตือนถึงพฤติกรรมบนดวงอาทิตย์ที่บ่อยครั้งกว่าปกติ อาจส่งผลให้มีการคาดการณ์ถึงการเกิดอันตรายบนโลกได้

สำหรับข่าวที่มีการแชร์ในช่วงนี้ คาดว่าเป็นการนำเอาข่าวเตือนภัยพายุสุริยะในครั้งก่อน ๆ มาบวกกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ซึ่งในขณะที่พายุสุริยะนั้นเกิดขึ้นมาจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์ แต่สุริยุปราคานั้นเกิดขึ้นจากการที่ดวงจันทร์บังเอิญโคจรมาบดบังดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์ทั้ง 2 นี้ จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 8 เมษายน นี้ เป็นสุริยุปราคาที่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา คราสเต็มดวงอาจยาวนานถึง 4 นาที 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ แต่สามารถรับชมไลฟ์ปรากฏการณ์ ได้ที่นี่ science.nasa.gov เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 22.42 - 03.52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) 

อ่านข่าวอื่น ๆ

ล้ำไปอีกขั้น! มนุษย์พิมพ์ข้อความ AI สร้างคลิปวิดีโอ

มาหาคำตอบ "วันวสันตวิษุวัต" 20 มี.ค.67 ทำไม "กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน"

ไขคำตอบ "ดาวตกชนิดลูกไฟ" แสงเขียวเหนือท้องฟ้าไทย


รู้จัก "เปราะสกล" พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก

Mon, 8 Apr 2024 12:17:00

วันนี้ (8 เม.ย.2567) เว็บไซต์มหาสารคาม เผยแพร่ข่าวการค้นพบพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อและตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติว่า ”เปราะสกล” หรือเรียกอีกอย่างว่า สาวน้อยเมืองสกล โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Kaempferia sakonensis Saensouk, P. Saensouk & Boonma และมีชื่อพื้นเมืองว่า เปราะสกล หรือว่านไก่กุ๊ก และเป็นพืชที่หายากมากที่สุดของประเทศไทย

ทีมวิจัยนำโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช และ รศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เป็นสมาชิกของหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิง และพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) 

เปราะสกล หรือสาวน้อยสกล ว่านกุ๊กไก่ พืชชนิดใหม่ของโลก (ภาพวารสารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

เปราะสกล หรือสาวน้อยสกล ว่านกุ๊กไก่ พืชชนิดใหม่ของโลก (ภาพวารสารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

ความโดดเด่นของ "เปราะสกล" 

นอกจา "เปราะสกล" จะเป็นพืชวงขิงชนิดใหม่ของโลกที่มีความงดงามแล้วนั้น ใบอ่อนของเปราะสกล ยังสามารถนำมารับประทานเป็นอาหาร อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาของสมุนไพร 

การตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ ชื่อวิทยาศาสตร์นั้นมีการตั้งชื่อตามชื่อจังหวัดของแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติใน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย 

สำหรับลักษณะพิเศษของเปราะสกล  เนื่องจากมีการผลิตช่อดอกที่ปลายกิ่ง ในการผลิตก้านปลอมตั้งตรง และดอกสีม่วงทำให้มีลักษณะคล้ายกับเปราะราศี (Kaempferia larsenii Sirirugsa) แต่แตกต่างจากลักษณะทางสัณฐานวิทยาของต้น และใบ อย่างไรก็ตาม ดอกของสายพันธุ์ใหม่นี้ก็คล้ายคลึงกับ Kaempferia albomaculata Jenjitt. & K.Larsen (nom. nud.) แต่แตกต่างกัน และแยกออกจากกันได้ง่ายเนื่องจาก K. albomaculata มีใบแบนราบกับพื้น ในขณะที่ K. sakonensis มีใบ และลำต้นเทียมตั้งตรง

ภาพจากวารสารวิชาการ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภาพจากวารสารวิชาการ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เปราะสกล ชอบขึ้นที่สภาพอากาศในพื้นที่เปิด ที่มีลักษณะดินเป็นดินทราย อากาศร้อนชื้น ฝนตกปานกลาง ปัจจุบันพืชชนิดนี้พบเฉพาะในอ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร และอนาคตอาจพบการกระจายในพื้นที่อื่นใกล้เคียงได้ แต่การสำรวจครั้งนี้ ยังไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด

ดังนั้นผู้วิจัย จึงเสนอให้จัดอันดับพืชชนิดนี้ตามเกณฑ์ของ IUCN (IUCN, 2022) ว่าเป็น Data Deficient (DD) และคาดว่าจะพบการกระจายพันธุ์ของพืชชนิดนี้ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้สำรวจในบริเวณใกล้เคียง เพื่อเปลี่ยนสถานะการอนุรักษ์ใหม่ให้เหมาะสมต่อไป การอนุรักษ์พืชชนิดนี้ต่อไป

ประโยชน์ของเปราะสกล

เปราะสกล เป็นไม้ประดับมงคล ใบอ่อนสามารถใช้เป็นอาหาร เป็นผักสดรับประทานกับน้ำพริก นอกจากนี้ใบอ่อนยังนำมาเป็นส่วนผสมลงไปในแกงอ่อมต่างๆ เช่น อ่อมกบ อ่อมเขียด อ่อมปลา อ่อมไก่ เพื่อดับกลิ่นคาว และเพิ่มความหอมการพัฒนาต่อยอดเปราะสกล หรือสาวน้อยแห่งเมืองสกล

ภาพจากวารสารวิชาการ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภาพจากวารสารวิชาการ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เนื่องจากเป็นพืชชนิดนี้ เป็นพืชที่มีต้นขนาดเล็กใกล้ผิวดิน ใบแดงเขียว ดอกม่วง สวยงามมากและมีความโดดเด่นมาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์รักษา สามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคทางด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การศึกษาหาปริมาณสารสำคัญทางธรรมชาติ ด้านเคมีเภสัชในการผลิตพืชสมุนไพร การปรับปรุงพันธุ์เพื่อการค้า

รวมทั้งด้านอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต คณะผู้วิจัยกำลังขยายพันธุ์จากเหง้า และขยายพันธุ์โดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเป็นหลักประกันว่าพืชหายากชนิดนี้จะไม่สูญพันธุ์และได้รับการอนุรักษ์ คุ้มครอง อย่างยั่งยืน 


8 เม.ย.67 สาวกดาราศาสตร์ ห้ามพลาด "สุริยุปราคาเต็มดวง"

Sat, 6 Apr 2024 18:05:00

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. (NARIT) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2567 จะเกิดปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาเต็มดวง" แนวคราสเต็มดวงจะพาดผ่านบริเวณทวีปอเมริกาเหนือ บริเวณประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ขณะที่ ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตได้ 

เริ่มจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่เวลา 22.42 - 03.52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุด 4 นาที 28 วินาที 

ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ปรากฏการณ์ "สุริยุปราคา" เป็นอย่างไร 

อ่านข่าว : เกาะกระแส "ดาราศาสตร์" 10 เรื่องห้ามพลาด ปี 2567

ปรากฏการณ์ "สุริยุปราคา" เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก เมื่อดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้ามาอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์

สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนโลก คือ แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ลดลง รูปร่างของดวงอาทิตย์จะเว้าแหว่งไปบางส่วน หรือถูกบังจนหมดทั้งดวงขึ้นอยู่กับรูปแบบการบัง
ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้จะเป็นแบบ "สุริยุปราคาเต็มดวง" เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์โคจรมาใกล้โลก ทำให้เราเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ มากพอจะบังดวงอาทิตย์ได้หมด เมื่อวัตถุทั้งสามเรียงตัวกันในแนวเส้นตรง จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง

นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญมาก ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาชั้นโคโรนา และวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบที่มีอยู่ในบรรยากาศ ชั้นโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ได้

NARIT อธิบายเพิ่มว่า สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 30/71 ชุดซารอสที่ 139 เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 22.42 น. ของวันที่ 8 เมษายน 2567 ตามเวลาประเทศไทย แต่ในประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เงามืดของดวงจันทร์จะเริ่มสัมผัสพื้นโลกบริเวณ

มหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.39 น. ของวันที่ 8 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นจะพาดผ่านประเทศแม็กซิโก สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสิ้นสุดคราสเต็มดวงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก ในเวลาประมาณ 02.55 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย

ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

สำหรับจุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดอยู่บริเวณเมืองนาซาส รัฐดูรังโก ประเทศเม็กซิโก ระยะเวลานานถึง 4 นาที 28 วินาที และเงาของดวงจันทร์จะพ้นจากโลกโดยสมบูรณ์เวลาประมาณ 03.52 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย

ชาวอเมริกัน รอชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง

การเกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญในครั้งนี้ ประเทศที่อยู่ในแนวคราส โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาตื่นตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวอเมริกันจำนวนหลายล้านคนจะได้ชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงอีกครั้ง หลังจากเกิดครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ยังดึงดูดให้นักดาราศาสตร์และผู้สนใจจากทั่วโลกเดินทางมาชมปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ผู้คนเฝ้าชมสุริยุปราคาเต็มดวง ในเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2017

ผู้คนเฝ้าชมสุริยุปราคาเต็มดวง ในเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2017

สิ่งที่นักดาราศาสตร์สนใจศึกษา ได้แก่ โคโรนา ซึ่งเป็นส่วนนอกสุดของชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ มองเห็นได้เฉพาะตอนเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ ในช่วงก่อนและหลังเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เพื่อเทียบเคียงลักษณะภูมิประเทศบนดวงจันทร์จาก และ ปรากฏการณ์ทางแสง ต่าง ๆ ในช่วงก่อนและหลังเกิดปรากฏการณ์ เป็นต้น

NARIT มีกำหนดเดินทางไปศึกษาและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ ณ รัฐเทกซัส ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่จะสามารถสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ได้ และมีโอกาสสังเกตปรากฏการณ์ได้นานที่สุดถึง 4 นาที 21 วินาที 

สุริยุปราคาเต็มดวง ครั้งต่อไป

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2569 ผ่านประเทศสเปน มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ประเทศไอซ์แลนด์ ประเทศกรีนแลนด์ บริเวณขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของประเทศรัสเซีย

สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 เห็นเป็น ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน สังเกตได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในช่วงเย็นก่อนดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.54 - 18.45 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่ อ.เบตง จ.ยะลา ประมาณร้อยละ 28

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 8 เมษายน 2567 ไม่ได้ส่งผลต่อการเกิดลมสุริยะ หรือพายุสุริยะแต่อย่างใด และยังไม่มีข้อมูลการแจ้งเตือนถึงพายุสุริยะจาก NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ในวันดังกล่าว

อ่านข่าวอื่น ๆ

ล้ำไปอีกขั้น! มนุษย์พิมพ์ข้อความ AI สร้างคลิปวิดีโอ

มาหาคำตอบ "วันวสันตวิษุวัต" 20 มี.ค.67 ทำไม "กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน"

ไขคำตอบ "ดาวตกชนิดลูกไฟ" แสงเขียวเหนือท้องฟ้าไทย


ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 77 จังหวัด เริ่มเบตง 4 เม.ย. สิ้นสุด แม่สาย 22 พ.ค.

Tue, 2 Apr 2024 17:36:00

วันนี้ (2 เม.ย.2567) เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุข้อความว่า ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นที่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกของปี เริ่มจากทางใต้สุดที่ อ. เบตง จ.ยะลา ในวันที่ 4 เม.ย.2567 เวลาประมาณ 12.19 น. จากนั้นดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นที่ต่างๆ ของไทย ไล่ลำดับขึ้นไปทางเหนือเรื่อย ๆ จนสิ้นสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 22 พ.ค.2567 เวลาประมาณ 12.17 น.

หากสังเกตวัตถุกลางแดดในช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากตามเวลาของแต่ละพื้นที่ จะเห็นวัตถุเสมือนไร้เงา เนื่องจากเงาของวัตถุจะตกอยู่ด้านใต้พอดี

ทั้งนี้ แม้ว่าดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกทำให้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แต่อุณหภูมิจะสูงที่สุดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสม ฯลฯ ที่อาจส่งผลต่ออุณหภูมิ ดังนั้นจึงอาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุดของปี

เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนระหว่างแนวละติจูด 5-20 องศาเหนือ ส่งผลให้ในหนึ่งปี ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่ดังกล่าวถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. และครั้งที่ 2 ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.

ทั้งนี้วันและเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้สังเกตบนโลก ส่งผลให้แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจะมีวันและเวลาการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากที่แตกต่างกัน

อ่านข่าวอื่นๆ :

อากาศร้อนผักสลัดไม่โต ผลผลิตลด 30 %

หน้าร้อนสร้างเงิน "ช่างแอร์" ลูกค้าแน่นรายได้พุ่งสูง 5 เท่า

วิกฤตภัยแล้ง อ.เบตง จ.ยะลา ขาดน้ำใช้กว่า 1,500 ครัวเรือน


ตะลึงพบ "ฉลามผี" สายพันธุ์ใหม่ทะเลอันดามันนอกชายฝั่งไทย

Thu, 21 Mar 2024 13:07:00

เว็บไซต์  Live Science รายงานข่าวดีในวงการอนุกรมวิธานปลา หลังจากนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบ "ฉลามผี" สายพันธุ์ใหม่ ไม่เคยเห็นมาก่อน มีหัวขนาดใหญ่ ดวงตาขนาดยักษ์ มีสีรุ้ง และครีบที่มีขนนก อยู่ในส่วนลึกของทะเลอันดามัน นอกชายฝั่งประเทศไทย

สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลลึกมีชื่อว่า Chimaera supapae เป็นปลากระดูกอ่อนในลำดับเดียวกับปลาที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน Chimaeriformes ปลาโบราณเหล่านี้ เป็นญาติห่างๆ ของฉลาม และปลากระเบน

นักวิทยาศาสตร์ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ในวารสาร และได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “คิเมียรา สุภาเพ” (Chimaera supapae) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.สุภาพ มงคลประสิทธิ์ อดีตคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานปลา

ข้อมูล : วารสาร Raffles Bulletin of Zoology   และ Live Science 

เปิดภาพ ฉลามผี

ภาพ :  David A. Ebert-วารสารRaffles Bulletin of Zoology

ภาพ : David A. Ebert-วารสารRaffles Bulletin of Zoology

David Ebert ผู้เขียนหลักของการศึกษา และผอ.โครงการของศูนย์วิจัยฉลามแปซิฟิกที่มหาวิทยาลัย San Jose State ในแคลิฟอร์เนีย บอกกับ WordsSideKick.com ทางอีเมล์ว่า ฉลามผี หาได้ยากในภูมิภาคนี้ของโลก

คิเมียรา อาศัยอยู่ตามไหล่ทวีป และสันเขามหาสมุทรใต้ทะเลลึก พบได้ที่ระดับความลึกต่ำกว่า 1,640 ฟุต ราว 500 เมตร โดยพวกมันแฝงตัวอยู่ในน่านน้ำมืด หาอาหารจากสัตว์ที่อาศัยอยู่ในก้นทะเล เช่น สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง หอย และหนอน คิเมียรา ในโลกนี้มีเพียง 53 สายพันธุ์ ตัวที่พบล่าสุดถือเป็นชนิดที่ 54

ลักษณะของฉลามผี

สำหรับ คิเมียรา สายพันธุ์ใหม่ ที่เก็บตัวอย่างเดียวที่พบในทะเลอันดามัน 772-775 เมตร นอกชายฝั่งของไทย มีจมูกสั้น ตาค่อนข้างใหญ่ ความยาวตา 32.2% ความยาวศีรษะ ลำตัวบาง ผิวหนัง สีน้ำตาลเข้มสม่ำเสมอ ช่องด้านข้าง และช่องปากมีกิ่งก้านสาขาเหมือนกัน

ขอบด้านหลังของครีบหลังนูนเล็กน้อย กระดูกสันหลังด้านหลังยาว 27% BDL ยาวกว่าครีบหลังแรก มีสัณฐานวิทยาใกล้กับ Chimaera macrospina จากออสเตรเลีย แต่ต่างกันในความยาวของ ventral caudal lobe,ความยาวของช่องจมูก และความยาวของขอบด้านหน้าของครีบหลัง (pectoral fin) สามารถแยกแยะได้จาก C. macrospina และอื่น ๆ สายพันธุ์ชิมาเอร่าอาศัยความแตกต่างของลำดับดีเอ็นเอของยีนไมโตคอนเดรียล ND2


มาหาคำตอบ "วันวสันตวิษุวัต" 20 มี.ค.67 ทำไม "กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน"

Mon, 18 Mar 2024 18:03:00

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่าในวันที่ 20 มีนาคม 2567 เป็น "วันวสันตวิษุวัต" (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด)(Vernal Equinox) ช่วงเวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน

คำว่า "Equinox" มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า "วิษุวัต" แปลว่า "จุดราตรีเสมอภาค" จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี

ซึ่งวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนี้ จะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนธันวาคม ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนจากจุดใต้สุดขึ้นมาทางเหนือเรื่อย ๆ จนถึงตำแหน่งที่ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก

ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและจะตกทางทิศตะวันตกพอดี สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้

การที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ขึ้นบนโลก

สำหรับปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ ในครั้งถัดไปตรงกับวันที่ 21 มิ..ย. 2567 เป็นวันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice)

ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศในซีกโลกใต้

อ่านข่าวอื่น ๆ

เม.ย.นี้ ลุ้นชม "ดาวหาง 12P/Pons-Brooks" อาจสว่างเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ล้ำไปอีกขั้น! มนุษย์พิมพ์ข้อความ AI สร้างคลิปวิดีโอ

ใครเห็นบ้าง? สดร.เผยภาพ Fire ball สว่างวาบบนท้องฟ้า


ล้ำไปอีกขั้น! มนุษย์พิมพ์ข้อความ AI สร้างคลิปวิดีโอ

Mon, 11 Mar 2024 08:24:47

ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI มีประโยชน์กับมนุษย์ที่ตอนนี้เหมือนจะเข้ามาบุกเกือบทุกวงการแล้ว ตั้งแต่วงการนักเขียน วาดภาพ ล่าสุดจะบุกวงการวิดีโอด้วย ขณะที่บางกลุ่มก็ดีใจ บางกลุ่มก็กลุ้มใจ

จากข้อความที่พิมพ์สู่คลิปวิดีโอในพริบตา

OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT เปิดตัว Sora โมเดล AI ที่จะสร้างวิดีโอจากข้อความไม่กี่คำให้เป็นวิดีโอตามที่ต้องการ แน่นอนว่า OpenAI ไม่ได้เป็นเจ้าเดียวที่ทำ แต่บริษัทสตาร์ทอัปอย่าง Runway ก็ได้พัฒนา Text-to-Video เป็นของตัวเอง ซึ่งรุ่นแรกเปิดตัวสู่สาธารณชนเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว และปล่อยเวอร์ชัน Gen-2 ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ความยาวของคลิปในช่วงแรกมีความยาวแค่ 4 วินาทีเท่านั้น แต่ตอนนี้สามารถสร้างวิดีโอได้ยาวถึง 16 วินาที ถึงแม้ว่า Runway จะยังไม่สามารถทำคลิปให้ยาวถึง 1 นาทีเหมือนของ ChatGPT ได้ แต่ก็สามารถต่อเติมฉากพื้นหลังในวิดีโอได้

ความซับซ้อนในการสร้างคลิปวิดีโอย่อมมีมากกว่าภาพนิ่ง บางครั้งการเคลื่อนไหวของภาพอาจกระตุกบ้าง หรือถ้าเป็นบุคคลอาจจะมีมือและนิ้วที่บิดเบี้ยวได้ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ วิดีโอที่สร้างโดย AI อาจจะปรากฏให้เห็นในแวดวงการตลาดและการศึกษา ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตภาพวิดีโอเอง

เมื่อ AI สร้างวิดีโอได้แบบนี้ แน่นอนว่าต้องมีเสียงทักท้วงตามมา เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยว่านี่จะเป็นอีกช่องทางให้ทำ Deepfake หรือไม่ เพราะมีหลายครั้งที่มีคนใช้ AI สร้างภาพล่อแหลมโดยใช้หน้าของคนอื่น ทำให้เกิดการเข้าใจผิดและเสื่อมเสียได้

อีกอย่างที่หลายคนกังวลคงหนีไม่พ้นเรื่องลิขสิทธิ์ ปกติ AI จะได้รับการฝึกโดยการป้อนข้อมูลด้วยภาพและวิดีโอ หากข้อมูลมาจากผลงานของคนอื่นในอินเตอร์เน็ต ซึ่งเจ้าของผลงานไม่ได้ให้ความยินยอม ทั้งนี้ Runway และ OpenAI ไม่ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด

หลายคนยังกลัวด้วยว่า AI จะมาเข้าแย่งงาน แย่งอาชีพ เพราะมีหลายกรณีที่มีการใช้ AI วาดภาพหน้าปกหนังสือ หรือแม้กระทั่งให้ AI ทำเพลงก็มี ก็ต้องมาดูกันว่าจะมีคนทำหนัง หรือมิวสิกวิดีโอหารายได้จาก AI หรือไม่

อ่านข่าวอื่น : 

"หมอเดว" ชี้เกมจับเด็กแก้ผ้า ผิดอนุสัญญาสิทธิเด็ก

สหรัฐฯ อพยพนักการทูตพ้นเฮติ-ชาวเมือง 3.6 แสนคนพลัดถิ่น


เม.ย.นี้ ลุ้นชม "ดาวหาง 12P/Pons-Brooks" อาจสว่างเห็นได้ด้วยตาเปล่า

Sun, 10 Mar 2024 12:13:00

นายธนกร อังค์วัฒนะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า "ปลาย เม.ย.2567 นี้ ลุ้นชมดาวหาง 12P/Pons-Brooks อาจสว่างเห็นได้ด้วยตาเปล่า"

ดาวหาง 12P/Pons-Brooks จัดเป็นดาวหางประเภทเดียวกันกับดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) กล่าวคือ มีคาบการโคจรโคจรรอบดวงอาทิตย์ 71 ปี จึงจัดอยู่ในดาวหางประเภท "ดาวหางคาบสั้น" (Periodic comet) ค้นพบครั้งแรกโดย Jean-Louis Pons นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1812 และมีการค้นพบซ้ำอีกครั้งในปี 1883 โดย William Robert Brooks นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน จึงเป็นที่มาของชื่อดาวหาง 12P/Pons-Brooks นั่นเอง

ดาวหางดวงนี้โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีค่อนข้างมาก จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดมีระยะห่างเพียง 116 ล้านกิโลเมตร (0.77 AU) ขณะที่จุดที่ไกลดวงอาทิตย์มากที่สุดมีระยะห่างถึง 4,965 ล้านกิโลเมตร (33.2 AU) ซึ่งโดยปกติแล้วช่วงที่ดาวหางจะมีความสว่างสูงสุด จะเป็นช่วงที่ดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด เพราะนิวเคลียสของดาวหางจะได้รับพลังงานและรังสีจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้เกิดกลุ่มฝุ่นและแก๊สฟุ้งกระจายออกมามาก

ขณะนี้ดาวหาง 12P/Pons-Brooks กำลังโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยวันที่ 23 เมษายน ค.ศ.2024 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด

จากการคาดการณ์โดยเว็บไซต์ theskylive.com ดาวหางอาจมีค่าอันดับความสว่างปรากฏได้มากถึง แมกนิจูด 4.42 ใกล้เคียงกับค่าอันดับความสว่างปรากฏของเนบิวลานายพราน (M42) และกระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาวหมาใหญ่ (M41) หมายความว่า หากท้องฟ้ามืดสนิทเพียงพอ ในช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด เราจะสามารถมองเห็นดาวหางได้ด้วยตาเปล่า

ทั้งนี้ ค่าอันดับความสว่างปรากฏที่คาดการณ์เป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้นเท่านั้น ความสว่างที่จะเกิดขึ้นจริงขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย ซึ่งดาวหางอาจสว่างกว่านี้หรืออาจจะสว่างน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้

ต้องดูทางทิศไหน - เวลาใด 

ในช่วงนี้ดาวหางมีตำแหน่งปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวแอนโดรเมดา (Andromeda) ทางขอบฟ้าทิศตะวันตก สามารถสังเกตการณ์ได้ในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังตกลับขอบฟ้า ดาวหางจะมีมุมเงยเพียงประมาณ 12 องศาเท่านั้น จึงมีเวลาปรากฏอยู่บนท้องฟ้าไม่นานก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป

และการที่ดาวหางมีมุมต่ำเช่นนี้ก็อาจทำให้ยากต่อการสังเกตการณ์เนื่องจากมลภาวะในชั้นบรรยากาศ จากนั้นดาวหางจะค่อย ๆ เปลี่ยนตำแหน่งเคลื่อนไปยังกลุ่มดาวแกะ (Aries) ในช่วงปลายเดือนมีนาคม และจะเคลื่อนไปสู่กลุ่มดาววัว (Taurus) ในช่วงปลายเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางน่าจะมีความสว่างสูงที่สุด 

ดาวหาง 12P/Pons-Brooks จัดเป็นดาวหางหนึ่งในดาวหางคาบสั้นที่มีความสว่างสูง และมีคาบการโคจรใกล้เคียงกับดาวหางฮัลเลย์ นั่นหมายความว่า ในช่วงชีวิตของมนุษย์จะมีโอกาสเพียง 1 ครั้งเท่านั้นที่จะสามารถสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้ได้
ภาพจำลองตำแหน่งดาวหาง 12P/Pons-Brooks จากโปรแกรม Stellarium ช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 19:00 น. ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคมไปจนถึง 26 เมษายน 2024

ภาพจำลองตำแหน่งดาวหาง 12P/Pons-Brooks จากโปรแกรม Stellarium ช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 19:00 น. ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคมไปจนถึง 26 เมษายน 2024

ก่อนที่ดาวหางจะโคจรออกห่างไปจากดวงอาทิตย์ ค่อย ๆ ริบหรี่จางหายไปในอวกาศ แล้วจะวกกลับมาเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ให้พวกเราได้ยลโฉมอีกครั้งในอีก 71 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว

12P/Pons-Brooks จะเพิ่มความสว่างได้มากแค่ไหน จะปรากฏเป็นดาวหางที่ทอดยาวอยู่บนท้องฟ้าให้เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างงดงามได้หรือไม่ มาร่วมลุ้นไปด้วยกัน


ข้อมูล-ภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ่านข่าวอื่น ๆ

เที่ยงคืน! ลุ้นขยะอวกาศครึ่งตันผ่านไทยพิกัดราชบุรี-กาญจนบุรี

ใครเห็นบ้าง? สดร.เผยภาพ Fire ball สว่างวาบบนท้องฟ้า

ไขคำตอบ "ดาวตกชนิดลูกไฟ" แสงเขียวเหนือท้องฟ้าไทย


เที่ยงคืน! ลุ้นขยะอวกาศครึ่งตันผ่านไทยพิกัดราชบุรี-กาญจนบุรี

Fri, 8 Mar 2024 20:33:00

วันนี้ (8 มี.ค.2567) เว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยแพร่ข้อมูลว่า เปิดหน้าขยะอวกาศขนาดครึ่งตัน จากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่กำลังตกลงโดยระบุเพิ่มเติมว่า เที่ยงคืนวันนี้ (ราว 00.00-00.30 น.) หากมีลูกไฟสว่าง ไสวเคลื่อนไปช้าๆ จากฟ้าตะวันตกยังตะวันออก ให้สันนิษฐานเลยว่าเป็นขยะอวกาศ จากสถานีอวกาศนานาชาติ  

นอกจากนี้ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า วิถีโคจร (ไม่ใช่จุดตก) ของขยะอวกาศขนาดครึ่งตัน จากสถานีอวกาศนานาชาติ  ขณะเคลื่อนผ่านน่านฟ้าไทยคืนนี้ 00.04-00:13 น. ทั้งนี้ สมาคมดาราศาสตร์ไทยจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบ

ภาพจาก Satflare

ภาพจาก Satflare

ในช่วงสัปดาห์นี้เกิดปรากฎการณ์เกี่ยวกับดาราศาสตร์ 2 ครั้งติดต่อกัน โดยเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา โลกออนไลน์พากันแชร์ลูกไฟสีเขียวขนาดใหญ่วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าเป็นแนวยาว คืนวันที่ 4 มี.ค. ช่วงเวลาประมาณ 21.00 น.

โดยมีผู้พบเห็นเป็นจำนวนมากหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบรี ชลบุรี สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา จากข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้นคาดว่าเป็นดาวตกชนิดลูกไฟ

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา "NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" เผยแพร่ภาพจาก sky camera หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา พร้อมระบุว่า ช่วงหัวค่ำเวลาประมาณ 19.00 น. ปรากฏ Fire ball สว่างวาบบนท้องฟ้าเป็นทางยาวเหนือหอดูดาวภูมิภาคฉะเชิงเทรา

อ่านข่าว ไขคำตอบ "ดาวตกชนิดลูกไฟ" แสงเขียวเหนือท้องฟ้าไทย

รู้จักขยะอวกาศ

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า  “อวกาศ” เปรียบเสมือนน่านน้ำสากลที่ใหญ่ที่สุด ที่ปัจจุบันมีการส่งดาวเทียมและยานอวกาศจากนานาประเทศทั่วโลก เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านการสำรวจทรัพยากร การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ของโลก การติดต่อสื่อสารทางไกล ไปจนถึงด้านความมั่นคงของชาติหรือทางการทหาร

ทำให้ภายในปี ค.ศ.2022 มีดาวเทียมที่ยังคงปฏิบัติภารกิจและโคจรอยู่รอบโลกมากกว่า 5,000 ดวง และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นในทุก ๆ วัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ภายในปี ค.ศ.2030 จะมีดาวเทียมโคจรอยู่รอบโลกมากถึง 60,000 ดวง

อย่างไรก็ดีตาม แม้จำนวนดาวเทียมที่มากขึ้น อาจสื่อถึงความเจริญทางเทคโนโลยีก็จริง แต่ปัญหาใหญ่ที่กำลังจะตามมาในไม่ช้าก็คือ “ขยะอวกาศ” ที่เกิดจากดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานไปแล้ว ซึ่งดาวเทียม 1 ดวงไม่ได้กลายเป็นขยะอวกาศแค่ 1 ชิ้น

หากปล่อยทิ้งไว้ในวงโคจรรอบโลก มันมีโอกาสที่จะถูกชนเข้ากับวัตถุขนาดเล็กในอวกาศอื่น ๆ รวมไปถึงชนกันเองกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ ทำให้จากขยะเพียงชิ้นเดียว ก็กลายเป็นกลุ่มฝูงขยะจำนวนนับไม่ถ้วนที่โคจรอยู่รอบโลกต่อไป

ภาพขยะอวกาศ จาก NASA

ภาพขยะอวกาศ จาก NASA

และทำให้ยิ่งเพิ่มโอกาสในการไปชนเข้ากับดาวเทียมดวงอื่น ๆ มากขึ้นไปอีก โดยจากการประเมินในปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะมีขยะอวกาศที่ไม่สามารถติดตามได้มากถึง 100 ล้านล้านชิ้นอยู่รอบโลก และจะยิ่งทวีคูณเพิ่มมากยิ่งขึ้นหากยังไม่มีการกำหนดแนวทางการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการพยายามผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาในการควบคุมดาวเทียม เพื่อลดจำนวนขยะอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับสนธิสัญญาเพื่อปกป้อง High Seas หรือน่านน้ำสากล ที่กว่า 170 ประเทศจากทั่วโลกพร้อมใจกันหาข้อตกลงร่วมกันและลงมือปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดการรุกล้ำทรัพยากรธรรมชาติโดยปราศจากการควบคุม

 


ใครเห็นบ้าง? สดร.เผยภาพ Fire ball สว่างวาบบนท้องฟ้า

Wed, 6 Mar 2024 21:22:29

วันนี้ (6 มี.ค.2567) เฟซบุ๊ก "NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" เผยแพร่ภาพจาก sky camera หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา พร้อมระบุว่า ช่วงหัวค่ำเวลาประมาณ 19.00 น. ปรากฏ Fire ball สว่างวาบบนท้องฟ้าเป็นทางยาวเหนือหอดูดาวภูมิภาคฉะเชิงเทรา

ขณะที่สมาคมดาราศาสตร์ไทย โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่า เมื่อเวลา 19.13 น. มีรายงานพบเห็นลูกไฟสว่างใหญ่สีเขียวจากหลายจังหวัดในประเทศไทย

ส่วนในแอปพลิเคชัน X มีผู้ใช้งานหลายคนโพสต์ข้อความว่า พบเห็นดาวตกในลักษณะเป็นลูกไฟ หรือแสงสีเขียว พุ่งลงมาจากท้องฟ้า ซึ่งมองเห็นได้ในหลายพื้นที่ พร้อมติดแฮชแท็ก #ดาวตก จนติดเทรนด์ X ในขณะนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไขคำตอบ "ดาวตกชนิดลูกไฟ" แสงเขียวเหนือท้องฟ้าไทย

ส.ดาราศาสตร์ไทย ชี้ลูกไฟปริศนา เป็น "ดาวตกดวงใหญ่"


Meta แจงปัญหาทางเทคนิค "เฟซบุ๊ก-ไอจีล่ม" 2 ชั่วโมง

Wed, 6 Mar 2024 07:59:00

#เฟสล่ม #ไอจีล่ม ยังคงติดเทรนด์อันดับ 1 ของ X ต่อเนื่องถึงเช้าวันนี้ (6 มี.ค.2567) หลังปัญหา "ล่ม" ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางดึกวานนี้ สร้างความกังวลใจให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของบริษัทเมตา เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ อินสตาแกรม และเธรดส์ ทั่วโลกไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้ได้ ตั้งแต่เมื่อช่วงเวลา 22.14 น. ตามเวลาในประเทศไทย

ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มบางส่วนหลุดออกจากระบบ และล็อกอินไม่ได้ โดยขึ้นข้อความ รหัสผ่านผิด มีบางอย่างผิดพลาด รวมทั้งไม่สามารถดาวน์โหลดหรือรีเฟรชหน้าเพจได้ หลายคนสงสัยว่าถูกแฮ็กหรือไม่

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก โพสต์ข้อความผ่าน X เมื่อเวลา 23.00 น.วานนี้ ขอให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม ใจเย็น ๆ และอีก 1 ชั่วโมงต่อมา ได้ระบุว่าพบสาเหตุแล้ว อยู่ระหว่างแก้ปัญหา โดยต่อมายืนยันว่าสามารถกลับมาใช้งานได้ปกติ

ขณะที่ "แอนดี สโตน" โฆษกของบริษัทเมตา โพสต์ข้อความชี้แจงว่า เกิดปัญหาทางเทคนิค พร้อมทั้งขอโทษผู้ใช้งานที่ได้รับผลกระทบ และระบุว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งหลังจากแพลตฟอร์มล่มอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็เริ่มกลับมาใช้งานตามปกติได้อีกครั้ง

22.30 น. รายงานปัญหา "เฟซบุ๊กล่ม" 5 แสนครั้ง

ด้านเว็บไซต์ DownDetector ผู้ตรวจสอบการให้บริการแพลตฟอร์มดังทั่วโลก รายงานว่า ช่วงที่พบการรายงานปัญหานี้มากที่สุด คือเวลา 22.30 น. โดยพบการรายงานปัญหาเฟซบุ๊กล่มประมาณ 500,000 ครั้ง และพบรายงานอินสตราแกรมล่ม 70,000 ครั้ง ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของบริษัทเมตา ถือว่าได้รับความนิยมมากที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่งของโลก โดยเฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานแบบแอคทีฟ 3,000 ล้านคนต่อเดือน ขณะที่อินสตราแกรม มีผู้ใช้งาน 1,350 ล้านคน และคาดว่าจะแตะ 1,400 ล้านคนในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่ปัญหาแพลตฟอร์มของบริษัทล่มครั้งใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นในปี 2021 ซึ่งในครั้งนั้นทั้งเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ วอทส์แอป และอินสตาแกรม ล่มเกือบ 6 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เฟซบุ๊ก-ไอจี ล่มทั่วโลก ใช้งานไม่ได้ - ติดเทรนด์อันดับ 1 บน X 


ไขคำตอบ "ดาวตกชนิดลูกไฟ" แสงเขียวเหนือท้องฟ้าไทย

Tue, 5 Mar 2024 12:19:00

กรณีการแชร์คลิปวิดีโอและภาพถ่ายในโซเชียล ปรากฏเป็นลูกไฟสีเขียวขนาดใหญ่วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าเป็นแนวยาว คืนวันที่ 4 มี.ค.2567 เวลาประมาณ 21.00 น. โดยมีผู้พบเห็นเป็นจำนวนมากหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบรี ชลบุรี สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา จากข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้นคาดว่าเป็นดาวตกชนิดลูกไฟ

วันนี้ (5 มี.ค.2567) นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ดาวตก (Meteorite) เกิดจากการที่วัตถุท้องฟ้าขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับชั้นบรรยากาศ ที่ระดับความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ยิ่งวัตถุมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็มากตามไปด้วย

จากคลิปวิดีโอและภาพถ่ายดังกล่าว ดาวตกที่ปรากฏมีขนาดใหญ่ และสว่างมาก ความสว่างใกล้เคียงกับดาวศุกร์ จึงสันนิษฐานว่าเป็นดาวตกชนิดลูกไฟ (Fireball) ทั้งนี้ แสงสีเขียวของดาวตก สามารถบ่งบอกได้ว่ามีส่วนประกอบของธาตุนิกเกิล ซึ่งเป็นธาตุโลหะ

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตก เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ จึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี โมเลกุลของอากาศโดยรอบ

นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก สามารถพบเห็นได้เป็นลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณ 44-48.5 ตันต่อวัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน จึงไม่สามารถพบเห็นได้ ดาวตกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ส.ดาราศาสตร์ไทย ชี้ลูกไฟปริศนา เป็น "ดาวตกดวงใหญ่" 

 


ส.ดาราศาสตร์ไทย ชี้ลูกไฟปริศนา เป็น "ดาวตกดวงใหญ่"

Tue, 5 Mar 2024 06:42:00

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 4 มี.ค.2567 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ส่งต่อภาพลูกไฟขนาดใหญ่ที่ตกจากฟ้าเป็นทางยาว โดยพบเห็นหลายจังหวัดในภาคกลาง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นอุกกาบาต หรือเป็นดาวตก ทำให้มีผู้แสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

นายวิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า จากภาพที่ปรากฏคล้ายดาวตกที่สว่างมาก มีการแตกของวัตถุเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตามมา สิ่งที่เป็นไปได้ คือ ดาวตกดวงใหญ่ หรือเรียกว่าลูกไฟได้ เพราะสว่างมาก หรือชิ้นส่วนยานอวกาศ หรือดาวเทียม หรือชิ้นส่วนของจรวดที่ตกลงมา

นายวิมุติ กล่าวว่า การพิสูจน์ว่าเป็นแบบหลังหรือไม่ ตรวจสอบได้จากบันทึกการส่งจรวด หรือบันทึกการกลับสู่บรรยากาศ ซึ่งหน่วยงานด้านอวกาศเก็บบันทึกไว้ทั้งหมด แต่การตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบว่ามียานลำใด หรือการส่งจรวดเกิดขึ้นในละแวกนี้ จึงเชื่อว่าเป็นดาวตก แม้ว่าลักษณะที่ปรากฏจะคล้ายดาวเทียมตกมาก

ล่าสุดวันนี้ (6 มี.ค.2567) สมาคมดาราศาสตร์ไทย อัปเดตข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ว่า Jonathan McDowell ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศจากสหรัฐฯ โพสต์ X ว่า ลูกไฟดังกล่าว คือ ดาวตกดวงใหญ่


NARIT เผยภาพจุดบนดวงอาทิตย์ ขนาดใหญ่ ก่อนเข้าสู่ "Solar Maximum" กลางปีนี้

Wed, 28 Feb 2024 13:14:27

วันนี้ (28 ก.พ.2567) นายธนกร อังค์วัฒนะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยบทความ "ต้อนรับอากาศร้อน ด้วยภาพที่ร้อนแรงที่สุด" 

ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสงเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2024 เวลา 10.56 น. ตามเวลาประเทศไทย แสดงให้เห็นจุดบนดวงอาทิตย์ (sunspot) ขนาดใหญ่บริเวณซีกเหนือของดาว รวมถึงจุดขนาดเล็กอีก 6-7 จุด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะพบจุดมากขึ้นเรื่อย ๆ เตรียมเข้าสู่ช่วง "Solar Maximum" ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป

ดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยพลังงานที่แตกต่างกันในแต่ละช่วง บางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานมาก และบางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานที่น้อย เกิดเป็นวัฏจักรที่มีคาบประมาณ 11-12 ปี เรียกว่า "วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle)" กล่าวคือ เป็นวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ ส่งผลให้แต่ละช่วงดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานแตกต่างกัน

โดยช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานมากที่สุด เรียกว่า "Solar Maximum" จะเป็น ช่วงที่มี sunspot บนพื้นผิวมากที่สุด และในทางตรงกันข้ามช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานน้อย (เงียบสงบ) และแทบจะไม่มี sunspot บนพื้นผิวเลย เรียกว่า "Solar Minimum"

อ่าน : ร้อนฉ่า! ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปลาย ก.พ.นี้ แตะ 43-44.5 องศาฯ

ขณะนี้ ดวงอาทิตย์กำลังอยู่ในช่วงที่มี sunspot เพิ่มมากขึ้น และจากข้อมูลเชิงสถิติโดย National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA [1] คาดการณ์ไว้ว่า ดวงอาทิตย์จะเข้าสู่ช่วง Solar Maximum ในช่วงกลางปีนี้ ดวงอาทิตย์จะมี sunspot เพิ่มมากขึ้น เกิดพายุสุริยะบ่อยและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งช่วงพีคของ Solar Maximum ในรอบนี้คาดว่าจะกินเวลาไปจนถึงปลายปี 2025 หลังจากนั้นจำนวน sunspot จะค่อย ๆ ลดลง แล้วไปน้อยลงที่สุดในช่วงปี 2033

ทั้งนี้ แม้จะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานออกมามากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์โลกแต่อย่างใด เนื่องจากสนามแม่เหล็กและชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของโลก จะสามารถป้องกันอนุภาคและรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เอาไว้ได้

แต่สำหรับดาวเทียมที่โคจรอยู่นอกโลก อาจเกิดความเสียหายต่อระบบวงจรไฟฟ้าได้ รวมถึงนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่นอกโลก ก็อาจได้รับปริมาณรังสีและอนุภาคพลังงานสูงเพิ่มมากขึ้น

นายธนกร อธิบายเพิ่มว่า ในช่วง Solar Maximum นี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการออกตามล่า "แสงออโรรา" เนื่องจากเมื่ออนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงโลก สนามแม่เหล็กโลกจะเบี่ยงทิศทางของอนุภาคเหล่านี้ให้พุ่งไปยังบริเวณขั้วทั้ง 2 ด้านของสนามแม่เหล็กโลก

จากนั้นอนุภาคจะปะทะเข้ากับแก๊สในชั้นบรรยากาศโลก แล้วเกิดการปลดปล่อยแสงสว่างออกมาเป็นสีสันต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของแก๊ส

โดยบริเวณขั้วของสนามแม่เหล็กโลกจะอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ทำให้แสงสว่างที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ พบได้เฉพาะพื้นที่ใกล้ขั้วโลกเท่านั้น เป็นที่มาของแสงออโรรา หรือ "แสงเหนือ-แสงใต้"

ดังนั้น การที่ดวงอาทิตย์อยู่ในช่วง Solar Maximum ก็จะมีอนุภาคจากดวงอาทิตย์มาปะทะกับโลกในอัตราที่สูงขึ้น ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดแสงออโรรามากกว่าช่วงอื่นนั่นเอง

อ่านข่าวอื่น ๆ

3 วิสาหกิจ "หอมมะลิอีสาน" เจาะตลาดข้าวพรีเมี่ยมในเยอรมนี

จ่อชง ครม.เห็นชอบ "ชุดไทยพระราชนิยม" ดันขึ้นทะเบียนยูเนสโก

อัตราการเกิดญี่ปุ่นปี 2023 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์


ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกสุดในรอบปี คืนวันมาฆบูชา 24 ก.พ.นี้

Fri, 23 Feb 2024 13:16:39

วันนี้ (23 ก.พ.2567) เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า วันที่ 24 ก.พ.2567 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา ดวงจันทร์เต็มดวงโคจรอยู่ในระยะไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า ไมโครฟูลมูน (Micro Full Moon) เวลาประมาณ 19.32 น. มีระยะห่างจากโลกประมาณ 405,909 กิโลเมตร

คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเพียงเล็กน้อย เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ คือ ช่วงเย็นของวันที่ 24 ก.พ.ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.22 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก สังเกตการณ์ได้ตลอดคืน จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 25 ก.พ.

วันขึ้น 15 ค่ำ หรือ วันเพ็ญ คือวันที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์เข้าหาโลก ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เมื่อดวงอาทิตย์ลับของฟ้าทางทิศตะวันตก ดวงจันทร์เต็มดวงจะขึ้นทางทิศตะวันออก ดังนั้น ในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง จะไม่สามารถสังเกตดวงอาทิตย์ในเวลาเดียวกันได้ ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 29.5 วัน ดวงจันทร์จึงจะกลับมาเต็มดวงอีกครั้ง

อ่านข่าว : ใครชอบดูดาวห้ามพลาด ส่องปรากฏการณ์ท้องฟ้า "เดือนกุมภาพันธ์ 2567"

อย่างไรก็ตาม ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลา 27.3 วัน ส่งผลให้ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก แต่ทว่า ณ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด หรือไกลโลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ นักดาราศาสตร์จึงใช้ “ช่วงที่สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง” มากำหนดวันเกิดปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวกับตำแหน่งการโคจรของดวงจันทร์ใกล้โลก และไกลโลกที่สุดซึ่งตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติในคืนไกลโลกนั้น นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

อ่านข่าว : เกาะกระแส "ดาราศาสตร์" 10 เรื่องห้ามพลาด ปี 2567

สำหรับปีนี้ ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) จะเกิดขึ้นในคืนวันออกพรรษา 17 ต.ค.2567 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,358 กิโลเมตร เวลา 18:28 น. ดวงจันทร์จะปรากฏสว่างเด่นเต็มดวง และมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย สามารถติดตามข้อมูลได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ


ใครชอบดูดาวห้ามพลาด ส่องปรากฏการณ์ท้องฟ้า "เดือนกุมภาพันธ์ 2567"

Fri, 2 Feb 2024 12:28:33

วันนี้ (2 ก.พ.2567) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ดังนี้

ดาวเคียงเดือน ดาวศุกร์ และดาวอังคาร เคียงดวงจันทร์ สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 05.30 น. จนถึงรุ่งเช้า

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) ระยะห่างประมาณ 405,909 กิโลเมตร 

อ่าน เกาะกระแส "ดาราศาสตร์" 10 เรื่องห้ามพลาด ปี 2567

นอกจากนี้ ในปีนี้จะมีปรากฏการณ์ "ดาราศาสตร์" อะไรอีกบ้างที่น่าสนใจ 

ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ ครั้งที่ 1 วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 03.09 - 04.27 น. (เห็นทั่วไทย)

ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ ครั้งที่ 2 วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลา 02.19 - 03.00 น. (เห็นในไทยบางส่วน เฉพาะประเทศไทยตอนบน)

อ่านข่าวอื่น ๆ

นักวิจัยไทยค้นพบ "กาแล็กซีมวลน้อย" เพิ่มอีก 13 กาแล็กซี ด้วย "กล้องเจมส์ เว็บบ์"

NASA พบร่องรอยการเคลื่อนที่ของ “ธารน้ำแข็ง” บนดาวอังคาร

สำรวจ “ระบบสุริยะ” ของเรา ที่ใดบ้าง ? มีโอกาสพบ “สิ่งมีชีวิต”


นักวิจัยไทยค้นพบ "กาแล็กซีมวลน้อย" เพิ่มอีก 13 กาแล็กซี ด้วย "กล้องเจมส์ เว็บบ์"

Thu, 1 Feb 2024 07:11:29

วันนี้ (1 ก.พ.2567)  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) เปิดเผยว่า ดร.ณิชา ลีโทชวลิต นักวิจัย NARIT กลุ่มวิจัยจักรวาลวิทยาและดาราศาสตร์ทฤษฎี นำทีมนักดาราศาสตร์ภายใต้เครือข่ายวิจัย GLASS collaboration ใช้ข้อมูลจากภาพชุดแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ค้นหากาแล็กซีขนาดเล็ก ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่เอกภพมีอายุประมาณ 550-700 ล้านปี หรือประมาณ 13,000 ล้านปีก่อน ค้นพบกาแล็กซีที่มีมวลน้อยกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือก 10-100 เท่า จำนวน 13 กาแล็กซี

นับเป็นกาแล็กซีอีกกลุ่มหนึ่งที่มีมวลน้อยที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในช่วงดังกล่าวของเอกภพ การค้นพบนี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์มีข้อมูลกาแล็กซีมวลน้อยในช่วงเวลาดังกล่าวของเอกภพเพิ่มมากขึ้น และมากพอที่จะนำมาใช้วิเคราะห์คุณสมบัติทางสถิติได้ งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal Letters

อ่านข่าว : ภาพแรกสุดชัดจากเจมส์ เว็บบ์ "กระจุกกาแล็กซี SMACS 0723"

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบบายเพิ่มว่า เมื่อประมาณ 13,000 ล้านปีก่อน ขณะที่เอกภพมีอายุประมาณ 550-700 ล้านปี เป็นช่วงที่สสารระหว่างกาแล็กซีกลับกลายเป็นพลาสมาอีกครั้ง เรียกว่ายุค Epoch of Reionization เพื่อที่จะเข้าใจวิวัฒนาการเอกภพในยุคดังกล่าว นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องศึกษากาแล็กซีในยุค Epoch of Reionization ทั้งมวล อายุ รูปร่าง หรือแม้กระทั่งความเป็นโลหะของกาแล็กซีดังกล่าว โดยเฉพาะกาแล็กซีที่มีมวลน้อย

อย่างไรก็ตามการสังเกตการณ์กาแล็กซีมวลน้อยทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากกาแล็กซีเหล่านั้นอยู่ห่างจากโลกมาก และมีความสว่างน้อยมากทำให้ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์

งานวิจัยนี้ คณะผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายชุดแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ภายใต้โครงการวิจัย GLASS-JWST-ERS program ค้นหากาแล็กซีมวลน้อย ซึ่งภาพถ่ายชุดแรกนั้นใช้อุปกรณ์ NIRCam สังเกตการณ์เป็นระยะเวลา 20 ชั่วโมง

อ่านข่าว : นาซาเปิดภาพ "ดาวอังคาร" จากเฮลิคอปเตอร์ Ingenuity

ภาพที่ได้จากอุปกรณ์นี้จะทำให้ได้ภาพถ่ายใน 7 ฟิลเตอร์ ในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ครอบคลุมความยาวคลื่นระหว่าง 900 – 4,400 นาโนเมตร

ข้อมูลจากภาพถ่ายที่ได้ นำมาสู่การค้นพบกาแล็กซีใหม่ 13 กาแล็กซี ที่มีมวลน้อยกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา 10-100 เท่า

เมื่อนำข้อมูลกาแล็กซีที่ถูกค้นพบใหม่มาคำนวณ พบว่ากาแล็กซีเหล่านี้กำลังมีดาวฤกษ์เกิดใหม่จำนวน 1-10 ดวงต่อปี และอายุเฉลี่ยของดาวฤกษ์ภายในกาแล็กซีเหล่านี้อยู่ระหว่าง 30-200 ล้านปี เป็นไปตามทฤษฎีที่นักดาราศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ จากข้อมูลอายุของดาวฤกษ์ คณะผู้วิจัยสามารถสร้างสูตรคำนวณอย่างง่าย เพื่อประมาณอัตราการเกิดของดาวฤกษ์ใหม่ รวมถึงมวลของกาแล็กซีได้อีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ดร.ณิชา นักวิจัยไทยจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เคยร่วมค้นพบหนึ่งใน "กาแล็กซีที่ไกลที่สุด" ด้วยกล้องเจมส์ เว็บบ์ ร่วมกับทีม GLASS ใช้ข้อมูลจากเจมส์ เว็บบ์ สังเกตแสงอันริบหรี่ จากห้วงอวกาศลึก และค้นพบกาแล็กซีที่มีระยะห่างออกไปถึงกว่า 13,500 ล้านปีแสง นับเป็นกาแล็กซีที่ไกลที่สุดกาแล็กซีหนึ่งเท่าที่เคยมีการค้นพบในปัจจุบัน 

อ่าน รู้จัก "ณิชา ลีโทชวลิต" นักวิจัยไทยร่วมค้นพบ "กาแล็กซี" ที่ไกลที่สุด

อ่านข่าวอื่น ๆ

เกาะกระแส "ดาราศาสตร์" 10 เรื่องห้ามพลาด ปี 2567

NASA พบร่องรอยการเคลื่อนที่ของ “ธารน้ำแข็ง” บนดาวอังคาร

เปิดภาพถ่าย “กล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE” ตลอด 2 ปีของการค้นพบ


สดร.ไขคำตอบ คลิปดวงอาทิตย์ซ้อน ชี้อาจเป็นภาพสะท้อนจากกระจก

Mon, 22 Jan 2024 19:13:00

วันนี้ (22 ม.ค.2567) ดร.มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร.  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอในแอปพลิเคชันติ๊กต็อก ปรากฏภาพของดวงอาทิตย์สีแดงซ้อนกัน 2 ถึง 3 ดวง มีการแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยจากหลักฐานที่มีเพียงวิเคราะห์คลิปวิดีโอ เบื้องต้น "เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากภาพสะท้อนกระจก"

นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. อธิบายเพิ่มว่า เบื้องต้นปรากฏการณ์ที่สามารถทำให้ดวงอาทิตย์ปรากฏได้หลายดวงนั้นมีหลายสาเหตุ ตั้งแต่การสะท้อนภายในเลนส์ของกล้องเอง (lens glare) การสะท้อนกับกระจกอาคาร ไปจนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ

หากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการสะท้อนภายในกล้องนั้น จุดสังเกตคือตำแหน่งของแสงมักเปลี่ยนตามมุมของกล้องที่ส่ายไปมา ซึ่งไม่ปรากฏในวีดีโอนี้) และปรากฏการณ์นี้จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ส่วนปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศที่อาจสะท้อน และหักเหแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้สามารถสังเกตเห็นแสงจากดวงอาทิตย์ในมุมที่เปลี่ยนไปได้นั้นก็มีอยู่ด้วยกันอยู่หลายปรากฏการณ์ เช่น Sun Dog [4], Sun Pillar [5], Novaya Zemlya effect [6] ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดจากชั้นบรรยากาศตามธรรมชาตินั้นมักจะมีสมมาตร ไม่ว่าจะเป็นแบบวงกลม เช่น รุ้งกินน้ำ หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด ตามแนวนอน เช่น Sun Pillar และ Novaya Zemlya หรือตามแนวตั้ง เช่น Sun Dog สืบเนื่องมาจากรูปร่างทรงกลมของหยดน้ำ และการสะท้อนภายในผลึกน้ำแข็งในชั้นบรรยากาศที่กำลังตกลงตามแรงโน้มถ่วง ตามลำดับ

แต่หากสังเกตจากวิดีโอ จะพบว่า "ปรากฏการณ์" ที่สังเกตเห็นได้นั้น มีภาพลวงของดวงอาทิตย์ปรากฏในแนวที่เฉียงออกไปในทิศทางเดียว ขัดแย้งกับสมมาตรที่สามารถพบได้ในชั้นบรรยากาศ เป็นการยากที่จะอธิบายว่าอนุภาคในอากาศจะต้องมีการเรียงตัวกันอย่างไร จึงจะสามารถสังเกตเห็นภาพลวงของดวงอาทิตย์ที่เฉียงไปทางบนขวาเพียงอย่างเดียวได้

ทั้งนี้ หากสังเกตจากภาพดวงอาทิตย์ 2 ดวงที่มีการเผยแพร่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากนิวซีแลนด์ [2] หรือจากจีน [3] ต่างก็พบว่ามีการเรียงตัวของดวงอาทิตย์ในแนวราบด้วยกันทั้งนั้น

นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้วพื้นผิวที่เกิดการสะท้อนหรือหักเหในชั้นบรรยากาศนั้นมักจะมีลักษณะที่เบลอไม่ได้เป็นขอบที่ชัดเจน สืบเนื่องมาจากระนาบการสะท้อนแสงที่ซ้อนกันหลายระนาบตลอดทั้งมวลอากาศ ในขณะที่ภาพดวงอาทิตย์ที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ดังกล่าวมีขอบชัดเจน จึงบ่งชี้ว่าเกิดจากการสะท้อนจากพื้นผิวแบนราบ ที่มีความหนาเพียงแผ่นบาง ๆ ในระนาบเดียว ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับการสะท้อนจากชั้นบรรยากาศ

ดร.มติพล ระบุอีกว่า ยังมีปริศนาอีกว่า หากชั้นบรรยากาศสามารถเบี่ยงทิศทางแสงอาทิตย์ได้ แล้วเพราะเหตุใดสมมาตรวงกลมของดวงอาทิตย์ดวงเดิมจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่อภาพลวงตาดังกล่าวซ้อนทับกับดวงอาทิตย์อยู่ ซึ่งหากสังเกตจากปรากฏการณ์ Novaya Zemlya ทั่ว ๆ ไปนั้น จะพบว่าดวงอาทิตย์เดิมนั้นไม่ได้ปรากฏเป็นวงกลมที่สมมาตรอีกต่อไป และแม้กระทั่งปรากฏการณ์ที่พบในนิวซีแลนด์ [2] หรือจีน [3] ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ปรากฏดวงอาทิตย์ที่มีขอบเป็นวงกลมซ้อนกันด้วยกันทั้งนั้น

ด้วยเหตุที่ภาพที่ปรากฏนั้นเป็นดวงอาทิตย์ที่มีขอบคมซ้อนทับกันเป็นแนวเฉียงในทิศทางเดียว โดยไม่ได้ยืดออกแต่อย่างใด

จึงสามารถสรุปได้ว่า วัตถุที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาพซ้อนกันนั้น ควรจะเป็นวัตถุที่มีการเรียงตัวเป็นระนาบแผ่นบางเพียงแผ่นเดียว ซึ่งวัตถุที่น่าจะเป็นมากที่สุดในกรณีนี้ น่าจะเป็นกระจกของอาคารที่ถ่ายอยู่

อ่านข่าวอื่น ๆ

อดีตอธิบดีกรมพินิจฯ ชี้ "เด็กก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่ภัยคุกคามบ้านเมือง"

เศร้า! "แม่เต่ามะเฟือง" ถูกอวนหมึกรัดคอตายคาหาดท้ายเหมือง

วัฒนธรรมการเชียร์บอลแบบ "ญี่ปุ่น" ต้นแบบการพัฒนาฟุตบอลของทวีปเอเชีย